เมื่อเด็กๆ เยาวชนในอคาเดมี่ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ก้าวออกจากห้องแต่งตัวของพวกเขาในโรงงานผลิตนักเตะฝีเท้าเยี่ยมของสโมสร ซึ่งซ่อนตัวลึกอยู่ในย่านแทรฟฟอร์ด พวกเขาจะวิ่งผ่านภาพถ่ายขนาดสูง 10 ฟุตของนักเตะชั้นยอดอย่าง เดวิด เบ็คแฮม, เซอร์ บ็อบบี้ ชาร์ลตัน, ดันแคน เอ็ดเวิร์ดส, ไรอัน กิ๊กส์ และจอร์จ เบสต์ “เราต้องการให้พวกเขามีแรงบันดาลใจ” เป็นคำกล่าวของเรเน่ เมลเลนสทีน โค้ชพัฒนาทักษะของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด
พวกเขามีแรงบันดาลใจแน่นอน ในการลงฝึกซ้อมทักษะและต่อด้วยการแบ่งข้างเล่น ทำให้เทคนิค ความมุ่งมั่น และจินตนาการของดาวรุ่งแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด แสดงออกมาอย่างน่าตื่นตาตื่นใจมาก “ถ้าเด็กๆ รุ่นนี้ยังคงพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ พวกเขาจะเหนือกว่าทุกๆ คนในระดับต่ำกว่า 18 ปี พวกเขาจะมีทักษะพรสวรรค์ที่เต็มเปี่ยมเลยทีเดียว” เมลเลนสทีน กล่าว
สถานที่ซึ่งตั้งอยู่ข้างๆ กับสนามฝึกซ้อมของทีมชุดใหญ่ที่คาร์ริงตัน ก็คือ อคาเดมี่ ซึ่งเต็มไปด้วยเด็กๆ วัย 10 ขวบ กำลังคลึงบอลด้วยฝ่าเท้าแบบซีดาน หรือสับขาหลอกแบบคริสเตียโน่ โรนัลโด้
ในตอนท้ายของการฝึกซ้อม แม้จะชุ่มไปด้วยเหงื่อ แต่บนใบหน้าของหนูน้อยทั้งหลายก็ฉาบไปด้วยรอยยิ้ม เมลเลนสทีน เรียกเด็กๆ มารวมกันเป็นวงกลม “พวกเธอทั้งหลายล้วนมีความสามารถ” เขาบอกกับเด็กๆ “แต่พวกเธอมีความมั่นใจมากพอที่ลงเล่นต่อหน้าผู้คนเป็นหมื่นๆ ได้หรือเปล่า? ขอให้พวกเธอหมั่นฝึกซ้อมตลอดเวลา อย่าเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ ตั้งใจเรียนรู้ ฝึกซ้อมให้หนัก พยายามให้มาก มีความรับผิดชอบ”
เด็กๆ วิ่งออกไป แทนที่ของเหลวที่สูญเสียไปด้วยเครื่องดื่มเกลือแร่ หยอกล้อกันถึงลีลาการเล่นที่พวกเขาได้ลองทำไป แล้วพวกเด็กๆ ก็เปลี่ยนเครื่องแต่งกาย บางคนสวมเสื้อของสโมสรบ้านเกิดอย่างเปรสตัน หรือเบิร์นลี่ย์ แล้วก็เดินเข้าไปในห้องของโค้ชเพื่อจับมือกับเมลเลนสทีน และทีมงานช่างพูดของเขา
“เด็กทุกคนที่มาที่นี่จะกลับออกไปเป็นคนที่ดีกว่าเดิม และเป็นนักเตะที่ดีกว่าเดิม” เลส เคอร์ชอว์ ผู้อำนวยการอคาเดมี่ กล่าว
“เราพยายามสอนพวกเขาถึงสิ่งที่ถูกและสิ่งที่ผิด เมื่อเด็กๆ เข้ามาหาเรา พวกเขามาจับมือและพูดว่า ‘สวัสดีครับ สบายดีมั้ยครับ?’ นั่นคือสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม มีครั้งหนึ่งที่เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน เข้ามาเยี่ยมเด็กๆ หนูน้อยคนหนึ่งพูดขึ้นว่า ‘เฮ้ บอส สบายดีมั้ย?’ แต่มีหนูน้อยอีก 2 คนได้ยินไปผิดแล้วพูดขึ้น ‘เฮ้ บ็อบ สบายดีมั้ย?’ กลายเป็น บ็อบ ไป”
เสียงหัวเราะเป็นเสียงที่ได้ยินได้ตลอดเวลาที่อคาเดมี่ ถึงกระนั้นก็ตาม ยังมีปัญหาสำคัญที่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ต้องการเปิดประเด็นขึ้นมา ซึ่งอาจจะทำให้กลายเป็นปรปักษ์ต่อสโมสรอื่น แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ต้องการปฏิรูประบบโค้ชของชุดอายุต่ำกว่า 9 ปี ไปเป็นชุดอายุต่ำกว่า 11 ปี โดยเน้นการพัฒนาทักษะในการเล่นแบบทีมละ 4 คนให้มากขึ้นกว่าการแข่งขันต่อสู้ระหว่างสโมสรแบบทีมละ 8 คนที่เล่นกันอย่างรุนแรงและดุเดือดเกินไป
เมลเลนสทีน ซึ่งนั่งข้างๆ กับภาพถ่ายเมื่อปี 1970 อันมีชื่อเสียงที่บ็อบบี้ มัวร์ สวมกอดกับเปเล่ ต้องการให้มีการหล่อหลอมรวมกันของความกระตือรือร้นแบบอังกฤษ และทักษะพรสวรรค์แบบบราซิล “ในบราซิล ถ้าเด็กคนหนึ่งไปที่ม้านั่งโดยสวมกางเกงขาสั้น แต่ไม่มีทักษะอะไรเลย คนอื่นจะบอกเขาว่า ‘นั่งลงเถอะ'” เมลเลนสทีน กล่าว
“แต่ที่นี่วัฒนธรรมฟุตบอลฝังลึกมากกว่า เราพยายามผสมผสาน 2 วัฒนธรรมเข้าด้วยกัน เวย์น รูนี่ย์ มีบุคลิกแบบที่ต้องการคว้าชัยชนะ และมีทักษะความสามารถชั้นยอด”
“ทำไม อีริค คันโตน่า, เปเล่ และโรมาริโอ ถึงสร้างความแตกต่างได้? ทำไมโรนัลดินโญ่ ถึงทำได้? ภายใต้ความกดดัน พวกเขามีความสามารถทำให้สถานการณ์ดีขึ้นได้ คุณสามารถมีความแข็งแกร่งทางกายได้เท่าที่คุณต้องการ มีแผนการเล่นที่เป็นระเบียบได้เท่าที่คุณต้องการ แต่คุณไม่มีทางที่จะเอาชนะนักเตะอย่าง มาราโดน่า, ครัฟฟ์, เบสต์ หรือซีดาน ได้ พวกเขาสามารถจัดการกับกองหลังได้อย่างสบาย”
“ใน 15 ปีที่ผ่านมา มีการมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาทางกายและแผนการเล่น โดยการไม่เสียประตู และการทำประตูจากลูกตั้งเตะ นั่นไม่ใช่การเอ็นเตอร์เทนผู้ชม เราเชื่อมั่นในยอดนักเตะพรสวรรค์สุดยอดอย่างครัฟฟ์, เบสต์, มาราโดน่า และทุกๆ 5 ปีก็จะมีนักเตะซักคนโดดเด่นขึ้นมา นักเตะคนหนึ่ง [รูนี่ย์] โดดเด่นขึ้นมาที่เอฟเวอร์ตัน เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราต้องการโครงการพัฒนาฝีเท้าที่จะช่วยให้เรามีนักเตะแบบรูนี่ย์ ซัก 4-5 คน” ด้วยมูลค่าของสนามฝึกซ้อมอคาเดมี่ของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่คิดเป็น 1 ใน 3 ของเงินจำนวน 27 ล้านปอนด์ที่เฟอร์กูสัน จ่ายไปเป็นค่าตัวของรูนี่ย์ มันก็คงจะดีถ้าจะพัฒนานักเตะขึ้นมาเองได้”
“เราต้องการนักเตะที่สามารถทำสิ่งที่ไม่คาดคิดได้แบบรูนี่ย์” เมลเลนสทีน กล่าวต่อไป
“ผมเห็นนักเตะที่เก่งด้านเดียวมากมายในลีกสูงสุด เราให้แรงบังดาลใจเด็กๆ ที่จะเล่นให้ดีกว่านักเตะเหล่านั้น ตัวของเซอร์ อเล็กซ์ เองก็ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี เขามาดูสิ่งที่เด็กๆ ทำได้ และพูดว่า ‘พยายามต่อไป’ ผู้จัดการทีมผู้นี้ได้เรียนรู้ถึงความหมายของการที่เด็กท้องถิ่นมีพัฒนาการทางฝีเท้าที่ดีขึ้น”
รูปภาพของนักเตะใน ‘คลาสออฟ 92’ ได้แก่เบ็คแฮม, กิ๊กส์, บัตต์, สโคลส์ และพี่น้องเนวิลล์ เรียงรายไปตามผนังของคาร์ริงตัน เคอร์ชอว์ เคยทำงานร่วมกับพวกเขา และหลงใหลไปกับการให้เวลาพวกดาวรุ่งได้เจริญเติบโต “มีสักกี่สโมสรที่จะรับสโคลซี่ เข้ามาตั้งแต่อายุ 16 ปี?” เคอร์ชอว์ กล่าว
“ในวัย 16 ปี เราสามารถให้สโคลซี่ ลงเล่นได้เพียง 20 นาที เขายังวิ่งไม่ได้เลย เขาเป็นเพียงเด็กตัวเล็กๆ เป็นโรคหืดหอบ ไม่แข็งแรง ไม่มีพละกำลัง ไม่มีลักษณะของนักกีฬา ไม่มีความอดทน ‘คุณได้ตัวคนแคระมาซะแล้ว’ ผมจำได้ว่ามีใครซักคนพูดไว้กับไบรอัน คิดด์ [ผู้ที่ต่อมาได้เป็นโค้ชทีมเยาวชน] ‘แล้วคุณจะต้องยอมกลืนน้ำลายตัวเอง’ คิดโด้ ตอบกลับไป ถ้าสโคลซี่ ได้ไปอยู่กับสโมสรที่เล็กกว่านี้ พวกนั้นคงจะปล่อยเขาออกไป และเขาคงจะไม่ได้ลงเล่นมาถึงทุกวันนี้ เราติดใจกับสโคลซี่ ยอดนักเตะเทคนิคสูง
ในศตวรรษที่ 21 เมื่อฟุตบอลตามท้องถนนไม่ค่อยมีให้เห็นอีกต่อไปแล้ว เคอร์ชอว์ ขอให้ เมลเลนสตีน มาทำงานที่คาร์ริงตัน และฝึกฝนเทคนิคให้กับทายาทในรุ่นของสโคลซี่ โค้ชชาวดัตช์ทดลองสาธิตการเป็นโค้ชให้เฟอร์กูสัน ดู และได้รับงานในทันที “เรเน่ ทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยมกับฟาน นิสเตลรอย, คริส อีเกิ้ลส์ และจูเซ็ปเป้ รอสซี่ ที่เข้าใจมันสมองของเขาได้เป็นอย่างดี แต่หน้าที่ของเขาคือการพัฒนาเด็กๆ ดาวรุ่ง” เคอร์ชอว์ กล่าว “เขาเป็นโค้ชที่ดีที่สุดในโลกสำหรับเด็กๆ”
เมลเลนสทีน ซึ่งเติบโตมาในดินแดนของ ‘โทเทิลฟุตบอล’ มีความหลงใหลไปกับการพัฒนาทักษะพรสวรรค์ ซึ่งก็เข้ากันได้อย่างลงตัวกับหลักการของ เฟอร์กูสัน, เคอร์ชอว์ และ โค้ชของอคาเดมี่อย่างไบรอัน แม็คแคลร์ และโทนี่ เวลแลน
“ช่วงอายุ 7 ถึง 10 ปีถือเป็นช่วงแห่งการเรียนรู้ ดังนั้นเราจึงพัฒนาทักษะเทคนิคของพวกเขาเมื่ออายุยังน้อย” เวลแลน กล่าว
“เรเน่ เข้ามาหา” เคอร์ชอว์ กล่าวต่อไป “และบอกว่ามันไม่มีประโยชน์เลยที่จะให้เด็กๆ ชุดอายุต่ำกว่า 9 ปีลงเล่นในฟุตบอลพรีเมียร์ลีก อคาเดมี่ แบบทีมละ 8 คนแข่งขันกับสโมสรอื่น โดยมีพ่อแม่มายืนอยู่ข้างสนามคอยตะโกนว่า ‘ลุยเข้าไปสิ’ เวลาเราเล่นกับบางทีม มันก็เหมือนกับว่ากำลังทำสงครามโลกครั้งที่ 3 กันเลย ตอนที่เราเล่นกับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ เมื่อปีที่แล้ว เราต้องกันตัวพ่อของเด็กซิตี้ คนหนึ่งออกไปจากสนามฝึกซ้อม เขาสบถคำด่ารุนแรง หาว่าผู้ตัดสินโกง เดี๋ยวนี้ตอนที่เราเล่นกับซิตี้ ผมบอกผู้ดูแลสนามให้ทำรั้วกั้นไว้รอบสนาม จะได้กันให้พ่อแม่อยู่ห่างออกไป 20-30 หลา”
แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด มอบหมายให้มหาวิทยาลัยแมนเชลเตอร์ เมโทรโปลิส แทนทำรายงานฉบับหนึ่งในประเด็นเรื่อง “ทักษะการเลี้ยงบอลแบบต่างๆ” ที่สาธิตโดยเด็กๆ ชุดอายุต่ำกว่า 9 ปีของอคาเดมี่ ในขณะที่ลงเล่นในเกมแบบทีมละ 4 คนในสนามขนาดกว้าง 25 เมตร ยาว 25 เมตร
แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ซึ่งได้รับเสียงสนับสนุนจากนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านกีฬาที่เป็นที่นับถือ จึงได้เข้าประชุมกับผู้อำนวยการพรีเมียร์ลีก อคาเดมี่ และอภิปรายถึงการขอเปลี่ยนแปลงกฎ โดยเปลี่ยนจากเกมแบบทีมละ 8 คนสำหรับเด็กชุดอายุน้อยที่สุดไปเป็นเกมแบบทีมละ 4 คน ในขณะที่โค้ชคนหนึ่งกำลังอธิบายเรื่องนี้อยู่ สโมสรอื่นมีปฏิกิริยาโต้ตอบข้อเสนอของเคอร์ชอว์ อย่างกับว่าเขาได้ “โยนระเบิดมือให้กับพวกนั้น” อย่างนั้นแหละ
เคอร์ชอว์ กล่าวว่า “ผู้เชี่ยวชาญของสโมสรอื่นกลับพูดออกมาว่า ‘พวกแมนยูนี่ ร้ายกาจจริง ถ้าพวกเขามีความคิดที่แปลกแยก ก็เอาพวกเขาออกจากโปรแกรมการแข่งขันเถอะ’ พวกนั้นไม่สนใจในการอธิบายถึงเหตุผล ว่าสิ่งที่เรากำลังทำจะเป็นผลดีต่อการพัฒนาของเด็กๆ”
หลักฐานบ่งชี้ถึงบางสิ่งที่พิเศษกำลังเกิดขึ้นที่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เด็กๆ ชุดอายุต่ำกว่า 9 ปี และชุดอายุต่ำกว่า 10 ปี กำลังสนุกสนานที่ลิทเทิลทัน โรด ในขณะที่เมลเลนสทีน และชุดอายุต่ำกว่า 11 ปี อยู่ที่สนามในร่มของคาร์ริงตัน และชุดอายุต่ำกว่า 12 ปีก็อยู่ที่ด้านนอกภายใต้แสงไฟของสนาม แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กำลังกลายเป็นสุดยอดโรงเรียนสอนฟุตบอลไปแล้ว
การฝึกฝนทำให้สมบูรณ์แบบ “ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่า ต้องใช้เวลา 10,000 ชั่วโมงเพื่อฝึกฝนให้เป็นนักกีฬาชั้นยอด” โค้ชคนหนึ่งกล่าว ดังนั้นแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จึงต้องทำให้มั่นใจว่า การฝึกซ้อมเป็นเรื่องสนุกสนาน “ในตอนเริ่มต้น เรามักจะให้เด็กๆ ดูดีวีดีความยาว 5 นาที ที่มีเทคนิคลีลาของ เบสต์, มาราโดน่า และโรนัลโด้ แล้วเราจะถามว่า ‘ใครอยากเป็นโรนัลโด้ บ้าง?’ เด็กๆ ก็จะยกมือขึ้น แล้วพวกเขาก็จะออกไปพยายามโชว์ลีลาในสนาม”
ทักษะความสามารถเหล่านั้นถูกเพาะบ่มและแสดงออกมาในการแข่งขันแบบทีมละ 4 คน “เรารู้สึกว่าเป็นเสียงที่ไม่มีใครสนใจ” เวลแลน ตั้งข้อสังเกต
“เราจะยินดีมากถ้าทีมอื่นทำการแข่งขันแบบทีมละ 4 คนด้วย เราต้องการพันธมิตรมากกว่านี้ แม้ว่าเราพอจะมีอยู่บ้าง ดาร์บี้, เลสเตอร์ และลิเวอร์พูล ให้ความร่วมมือด้วยเป็นอย่างดี”
แต่ทีมอื่นไม่ให้ความร่วมมือเลย “ตอนที่เราเล่นกับฮัดเดอร์สฟิลด์ หรือสโต๊ค พวกนั้นจริงจังจนเกินไปเพียงเพราะว่ากำลังแข่งขันกับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด” เมลเลนสทีน กล่าว “พวกเขาเล่นหนักเป็น 2 เท่า มันกลายเป็นศึกสงครามไปแล้ว นั่นไม่ได้ช่วยพัฒนานักเตะเลย ผู้จัดการคนหนึ่งของอคาเดมี่อื่นกล่าวกับผมว่า ‘ผมอยากจะเห็นเกมแบบทีมละ 8 คน แล้วก็มาร่วมดื่มน้ำชากันหลังแข่งจบ'”
“การทำหน้าที่ผู้อำนวยการด้านเทคนิคของเอฟเอ เป็นงานที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะมีพวกคนจิตใจคับแคบมากมาย ในอังกฤษมีวัฒนธรรมการเป็นโค้ชที่ไม่ดี การสั่งสอนแบบใช้ความรุนแรง แต่เราต่างออกไป ถ้ามีเด็กทำผิดพลาด จะไม่มีใครไปดุด่าเขา”
เคอร์ชอว์ เห็นด้วย และกล่าวเพิ่มเติมว่า “เด็กคนที่ถือว่าแย่ที่สุดของเราในชุดอายุต่ำกว่า 16 ปี ก็ยังมีผลงานก้าวหน้ากว่าพวกที่เล่นอยู่กับบิวรี่, รอชเดล และสโมสรอื่นๆ พวกนั้น เรากำลังพัฒนาเด็กๆ ดาวรุ่งที่มีพรสวรรค์สูง ซึ่งมีทักษะลีลาและลงแข่งขันได้ พอเด็กๆ เหล่านี้มีอายุ 12 ปี พวกเขาก็จะพร้อมลงเล่นในเกมแบบทีมละ 11 คน”
“พรีเมียร์ลีก มีกฎบางอย่างที่ต้องทำการปรับปรุงแก้ไขในขณะนี้ แต่ผมเลิกที่จะไปเข้าประชุมผู้จัดการทีมอคาเดมี่แล้ว พวกนั้นเอาแต่พูดโอ้อวดไร้สาระ มีพวกเผด็จการบางคนต้องการขึ้นเป็นใหญ่ บางสโมสรก็มีความสับสนกับอคาเดมี่ของตัวเอง พรีเมียร์ลีก ควรจะขับพวกนั้นออกไป แต่ก็ไม่ทำ”
“อคาเดมี่ของบาร์นสลี่ย์ ยอดเยี่ยมมากเมื่อตอนที่สร้างเสร็จใหม่ๆ แต่โชคไม่ดีที่พวกเขาทำผิดกฎ จึงควรจะถูกขับออกไป เรายังคงเดินหน้าพัฒนาต่อไป สโมสรอื่นไม่เป็นเช่นนั้น เชลซี เคยย่ำแย่ที่สุด แต่พูดอย่างยุติธรรมแล้ว พวกเขากำลังดีขึ้น”
“เอฟเอ สร้างระบบอคาเดมี่ขึ้นมาเพื่อพัฒนาเด็กๆ ให้ก้าวขึ้นมาพาอังกฤษเป็นแชมป์ฟุตบอลโลก ผมไม่สนใจว่าอังกฤษจะไม่ได้ติดอยู่ในทีมท็อป 32 ของโลก งานของผมคือพัฒนานักเตะขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่ของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และเขาไม่จำเป็นต้องเป็นคนอังกฤษ รอสซี่ [ดาวรุ่งชาวอิตาลี] มีโอกาสที่ดีมาก เขาเหมือนกับ จิมมี่ กรีฟส์ ถนัดเท้าซ้าย พาบอลตะลุยไปข้างหน้าได้ เพียงแต่ไม่ใช่คนอังกฤษเท่านั้น”
DaKinG, เบคแก้ว
2001-2024 RED ARMY FANCLUB Official Manchester United Supporters Club of Thailand. #ThaiMUSC